แพนด้ายักษ์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความ น่ารักมากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก คนส่วนใหญ่คิดว่าแพนด้ายักษ์เป็นสัตว์อ้วนเตี้ยอุ้ยอ้ายแสนน่ารัก แต่ที่จริงแล้วแพนด้ายักษ์ก็เป็นอันตรายเช่นเดียวกับหมีชนิดอื่น ๆ
แพนด้ายักษ์กระจายพันธุ์ในแนวเทือกเขา ทางตอนกลางของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ในมณฑลเสฉวน, ชานซี และกานสู ในอดีตแพนด้ายักษ์เคยกระจายพันธุ์ลงมาถึงบริเวณที่ราบต่ำ แต่เพราะการตัดไม้ทำลายป่า, การขยายพื้นที่เกษตรกรรม และการพัฒนาพื้นที่ ทำให้ปัจจุบันแพนด้ายักษ์ถูกจำกัดการกระจายพันธุ์ให้เหลือเฉพาะในเทือกเขา เท่านั้น แพนด้ายักษ์อาศัยอยู่ในป่าสนและป่าไม้ใบกว้าง (broadleaf) ที่มีต้นไผ่อยู่หนาแน่นที่ระดับความสูง 1,200 – 4,100 จากระดับน้ำทะเล บริเวณนี้มีฝนตกหนัก และหมอกหนาปกคลุมตลอดปี สำหรับประเทศไทยได้มีการค้นพบฟอสซิลของแพนด้าที่จังหวัดลำปาง
อาหารส่วนใหญ่ (ประมาณร้อยละ 99) ของแพนด้ายักษ์ที่อาศัยในป่าธรรมชาติคือไผ่ แพนด้ายักษ์ใช้เวลาในการหาอาหารประมาณ 14 ชั่วโมงต่อวัน กินไผ่ 12.5 กิโลกรัมต่อวัน และถ่ายอุจจาระมากกว่า 100 ครั้งต่อวัน
โดยปกติแพนด้ายักษ์ที่โตเต็มวัยแล้วจะ อยู่เพียงลำพัง แต่ก็มีการติดต่อสื่อสารกับแพนด้ายักษ์ตัวอื่นบ้างเป็นช่วง ๆ โดยใช้การสื่อสารด้วยสารเคมีจากต่อมกลิ่น เสียงร้อง และการพบปะกันบ้างเป็นครั้งคราว แพนด้ายักษ์ในป่าธรรมชาติใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการหาอาหาร กินอาหาร และการพักผ่อน ไม่จำศีล (hybernation) เหมือนหมีชนิดอื่น ๆ ในป่าเขตอบอุ่น
1. เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่ในสถานภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable: VU) จากการประเมินสถานภาพความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต โดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature: IUCN) หรือ IUCN Red List (2016) 2. เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าในบัญชีหมายเลข 1 ที่ห้ามค้าโดยเด็ดขาด เนื่องจากใกล้จะสูญพันธุ์ ยกเว้นเพื่อการศึกษา วิจัยและเพาะพันธุ์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องได้รับความยินยอมจากประเทศที่จะนำเข้าเสียก่อน ประเทศส่งออกจึงจะออกใบอนุญาตส่งออกให้ได้ โดยจะต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของชนิดพันธุ์นั้น ๆ ด้วย ตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES)
CLASS : Mammalia
ORDER : Carnivora
FAMILY : Ursidae
GENUS : Ailuropoda
SPECIES : Giant Panda (Ailuropoda melanoleuca)
สถานะภาพทางการอนุรักษ์ : สูญพันธุ์จากมณฑล หูหนาน และหูเป่ย
แพนด้ายักษ์มีฤดูผสมพันธุ์ในช่วงฤดูใบไม้ผลิเท่านั้น เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ เพียง 2 – 3 วัน ที่ตัวเมียมีความต้องการจะผสมพันธุ์และสามารถตั้งท้องได้ ในช่วงเวลานั้นจะมีการสื่อสารโดยใช้เสียงร้องและกลิ่นเพื่อดึงดูดให้ตัวเมีย และตัวผู้มาพบและผสมพันธุ์กัน แพนด้ายักษ์จะโตเต็มวัยพร้อมจะผสมพันธุ์ได้ตั้งแต่อายุ 4 – 8 ปี ตัวเมียจะตั้งท้องประมาณ 95 – 160 วัน อาจจะตกลูกได้ครั้งละ 2 ตัว แต่โดยปกติจะมีเพียงตัวเดียวเท่านั้นที่รอดชีวิต ลูกแพนด้ายักษ์จะอยู่กับแม่ไปจนกระทั่งอายุประมาณ 1.5 – 3 ปี แล้วจึงแยกตัวออกไป ซึ่งหมายความว่าโอกาสที่แพนด้ายักษ์ตัวเมียจะสามารถมีลูกได้ก็คือทุก 2 – 3 ปี ดังนั้นตลอดชีวิตของมันก็อาจประสบความสำเร็จในการตกลูกได้เพียง 5 – 8 ตัว
มีความสูงที่ระดับหัวไหล่ประมาณ 2 – 3 ฟุต มีความยาวประมาณ 4 – 6 ฟุต ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย และอาจมีน้ำหนัก 115 กิโลกรัม
แก้ไขข้อมูล ณ วันที่ 11 เมษายน 2560